ก้อนเต้านมที่คลำได้ เป็นซีสต์ หรือ ก้อนเนื้อมะเร็ง?!
ชีวิตผู้หญิงเรานั้น มักมีความผิดปกติหรือความซับซ้อนอยู่ในทุกช่วงวัย ให้เกิดความประหลาดใจและกังวลใจอยู่เสมอ อีกหนึ่งเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือ การเกิดสิ่งผิดปกติขึ้นกับหน้าอกหน้าใจดังเช่น “ก้อน” เพราะนั่นอาจเป็นได้ทั้งซีสต์ในเต้านมหรือก้อนเนื้อในเต้านมก็ได้ ซึ่งทั้งสองจะมีลักษณะที่คลำพบคล้ายกัน แต่การพัฒนาไปสู่ “มะเร็งเต้านม” ต่างกันอย่างสิ้นเชิง!
ซีสต์คืออะไร?
ซีสต์ที่เต้านม หรือถุงน้ำในเต้านม คือภาวะที่เนื้อเต้านมบางจุดเป็นโพรงและมีน้ำขังอยู่ในนั้น จากอัลตราซาวด์จะเห็นเป็นลักษณะกลมหรือรูปไข่ ขอบเรียบ ด้านในเป็นสีดำ หากเจาะน้ำออกมาดูแล้วจะพบว่าเป็นน้ำเหลืองใสหรือเหลืองน้ำตาลออกขุ่น และหากมีขนาดใหญ่อาจจะเจ็บและคลำพบได้ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือนเมื่อร่างกายมาภาวะบวมน้ำ ถุงน้ำเหล่านี้ก็บวมน้ำเช่นกันจึงทำให้ขนาดจะโตขึ้นและเจ็บมากขึ้นได้ และสามารถยุบลงได้หลังประจำเดือนหมด แม้ถุงน้ำจะเป็นหนึ่งในความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเต้านม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ถูกพัฒนาต่อไปกลายเป็นมะเร็ง
ก้อนเนื้อในเต้านม
ก้อนเนื้อในเต้านมจะต่างจากถุงน้ำคือด้านในก้อนจะเต็มไปด้วยเนื้อและไม่ได้เป็นโพรงทั้งหมดเหมือนถุงน้ำ แบ่งได้เป็นก้อนเนื้อชนิดดีและก้อนเนื้อชนิดที่น่าสงสัยมะเร็ง ก้อนเนื้อเหล่านี้มักจะไม่มีอาการเจ็บ ส่งผลให้หลายคนมองข้ามความอันตรายอย่าง “มะเร็งเต้านม” ไป โดยชนิดที่น่าสงสัยมะเร็งมักจะมีลักษณะแข็งกว่าก้อนเนื้อธรรมดา หรืออาจจะมีอาการร่วมกับอาการผิวหนังดึงรั้ง หัวนมดึงรั้ง หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้
ทำไมต้องตรวจแมมโมแกรม?
หากอาศัยการคลำและสังเกตุอาการอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถแยกก้อนเนื้อสองชนิดนี้ได้ทั้งหมดจึงจำเป็นต้องใช้แมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์ หรือแม้กระทั่งการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อช่วยวินิจฉัย โดยจากอัลตราซาวด์หากเป็นก้อนเนื้อจะพบว่าด้านในก้อนสีไม่ดำสนิทเมื่อเทียบกับถุงน้ำ หากเป็นก้อนเนื้อชนิดดีมักจะมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ ขอบเรียบ แต่ถ้าเป็นก้อนเนื้อชนิดที่น่าสงสัยมะเร็งลักษณะก้อนจะทรงสูง ขอบขรุขระ อาจจะมีหินปูนเกาะด้านในก้อน
ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ถึงสาเหตุในการเกิดก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมที่แน่ชัด แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 เป็นต้นไป ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นยิ่งต้องใส่ใจในการสังเกตและตรวจหาการเกิดมะเร็ง หากมีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยแต่นั่นอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่โรคร้ายและอันตรายถึงชีวิต
ดังนั้น แม้การสังเกตและตรวจสอบความผิดปกติเต้านมสามารถทำเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง แต่เพื่อความแน่ชัดของโรคและการรักษาที่ตรงจุดควรเข้าตรวจวินิจฉัยและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการใดใดที่อายุมากกว่า 40 ปี ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเนื่องจากหากก้อนขนาดเล็กมากจะไม่สามารถตรวจพบด้วยการคลำได้เลย จึงจำเป็นต้องใช้แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เพื่อมองหาก้อนเหล่านั้น พร้อมรับคำปรึกษาจากแพทย์ด้านเต้านมเป็นประจำทุกปีเช่นกัน
บทความโดย
แพทย์หญิง ตรีทิพย์ เกิดสินธ์ชัย แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมเต้านม
ประจำศูนย์รักษ์เต้านม WMC ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
โทร. 02-836-9999 ต่อ 2621-3
Line : @wmcbreast