พัฒนาการเด็กเล็ก
การเลี้ยงลูก คือประสบการณ์ที่นอกจากสร้างความสุขแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และท้าทายไปพร้อมกัน เพราะเด็กในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิด คือวัยที่จะคอยเรียนรู้สิ่งรอบตัว ซึ่งส่งผลต่อ “พัฒนาการ” ของเจ้าตัวน้อยทั้งสิ้น ดังนั้น การสังเกตุจะช่วยให้ผู้ปกครองหยิบยื่นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาพัฒนาการของเด็กให้เป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสม
แรกเกิด - 1 เดือน
- แสดงการรับรู้ได้ อาทิ กระพริบตา สะดุ้ง
- มองตามสิ่งของระยะด้านข้าง - กลางลำตัว
- ส่งเสียงอ้อแอ้ได้
- มองหน้าผู้พูดอย่างน้อย 1 วินาที
1 - 2 เดือน
- ยกศีรษะได้ 45 องศา ในขณะนอนคว่ำ
- ออกเสียง อู/อา/อือ ได้
- ยิ้ม หรือ ส่งเสียงตอบโต้ได้
3 - 4 เดือน
- ยันแขนเพื่อยกศีรษะและหน้าอกในท่านอนคว่ำ
- มองตามสิ่งของได้ 180 องศา
- หันตามทิศทางของเสียงได้
- ส่งเสียงสูง-ต่ำ แสดงความรู้สึก
5 - 6 เดือน
- ใช้ฝ่ามือยันหน้าอกลอยจากพ้นได้
- เอื้อมมือหยิบสิ่งของได้
- เลียนแบบรูปปากและเสียง อาทิ เสียงจุ๊บ
- แสดงความสนใจเมื่อมีคนคุยด้วย
7 - 9 เดือน
- นั่งทรงตัวได้ เอี้ยวตัว หรือหมุนตัวไปหยิบของได้ โดยไม่ล้ม
- เลียนเสียงพูดคุย
- สนใจภาพในหนังสือ
9 เดือน
- ลุกจากนอนเป็นการนั่งได้
- เกาะสิ่งของเดินไปข้าง ๆ ได้
- หยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้
- ทำท่าทางตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ อาทิ โบกมือ ตบมือ
- รู้จักการปฏิเสธ เช่น ส่ายหน้า หันหน้าหนี
- ยืนเกาะได้อย่างน้อย 10 วินาที
10 เดือน - 12 เดือน
- เริ่มตั้งไข่ ยืนด้วยตนเองอย่างน้อย 2 วินาที
- โบกมือหรือตบมือตามคำสั่ง โดยไม่ต้องทำให้ดู
- แสดงความต้องการด้วยเสียงหรือท่าทาง เช่น ยื่นมือให้อุ้ม ส่งเสียงเรียก
- นำสิ่งของมาใช้ได้ถูกวิธี เช่น เอาช้อนมาทำท่ากิน
- เรียกพ่อหรือแม่ได้
1 ขวบ 5 เดือน – 2 ขวบ
- ควบคุมการขับถ่ายหรือปัสสาวะได้ดีขึ้น
- เดินได้โดยไม่ต้องช่วย แต่การวิ่งยังไม่คล่องแคล่ว
- ถอดเสื้อผ้าบางชิ้นด้วยตนเองได้ เช่น หมวก ถุงมือ หรือถุงเท้า
- ดื่มน้ำ หรือตักอาหารได้ โดยไม่หกหรือหกน้อย
- นั่งเก้าอี้ได้โดยไม่ต้องประคอง
- เปิดหนังสือทีละหน้าได้
- พูดได้หลายคำมากขึ้น และสามารถพูดคำอื่นนอกจากพ่อแม่ได้ เช่น ตา ยาย
- ปฏิเสธด้วยท่าทางได้
- ชี้สิ่งของ หรือชี้บอกสิ่งที่ต้องการได้
- เรียนรู้ชื่อของสิ่งของรอบตัว เช่น โทรทัศน์ ช้อน
- ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น ลุกขึ้น นั่งลง
- ชอบเลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่
- แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหรือโกรธ
- อาจกลัวคนแปลกหน้า เกาะติดผู้ปกครอง และกังวลหากต้องแยกกัน
ช่วง 2 ขวบ
- ยืนเขย่งเท้าได้ และยกสิ่งของโดยไม่ล้ม
- ทุ่มลูกบอลโดยยกแขนสูงได้
- ขึ้นลงเตียงหรือเก้าอี้โดยไม่ต้องช่วย
- ขึ้นลงบันไดได้ แต่อาจจับราว
- เปิดลูกบิดประตูได้
- ใส่เสื้อผ้าที่ใส่ง่ายได้ด้วยตนเอง
- วาดเส้นตรง หรือวงกลมได้ตามแบบ
- ต่อบล็อคของเล่นได้โดยไม่ล้ม
- สื่อสารสิ่งที่ต้องการได้ เช่น หิวน้ำ หรืออยากเข้าห้องน้ำ
- พูดประโยคสั้น ๆ ได้ เช่น อาบน้ำ กินนม
- เริ่มแยกแยะรูปทรงและสี
- จำชื่อของคนคุ้นเคย และจำอวัยวะในร่างกายได้
- ตื่นเต้นเมื่อได้เล่นกับเด็กคนอื่น
- มีความดื้อและต่อต้านเมื่อถูกตักเตือน
ช่วง 3 ขวบ
- ยืนขาเดียวและกระโดดขาเดียวได้
- วิ่งและปีนป่ายได้คล่องแคล่ว ขึ้นบันไดโดยไม่ต้องจับ
- ใส่และถอดเสื้อผ้าได้เอง
- วางวัตถุเข้าล็อคได้
- ปั่นจักรยาน 3 ล้อได้
- มีฟันน้ำนมครบ 20 ซี่
- กลั้นปัสสาวะในตอนกลางวันได้ ในบางรายอาจกลั้นในกลางคืนได้ด้วย
- ปฏิบัติตามสิ่งที่บอกหลายขั้นตอนได้
- เข้าใจการบอกตำแหน่ง เช่น บน ล่าง
- รู้ชื่อตนเอง และบอกคนอื่นได้
- เริ่มใช้คำแทนตัวเอง
- เข้าใจและจดจำตัวเลขได้มากขึ้น
- เปิดและปิดฝาขวดได้
- แสดงความวิตกเมื่อเห็นเพื่อนร้องไห้
- เข้าใจความเป็นเจ้าของ รู้ว่าอันไหนของตัวเองอันไหนของผู้อื่น
- มีอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้น
- แยกจากพ่อแม่ได้ง่ายขึ้น
ช่วง 4 ขวบ
- ทรงตัวดีขึ้น กระโดดขาเดียวได้โดยไม่ล้ม
- ตัดกระดาษตามรูปภาพได้
- นอนวันละ 11-13 ชั่วโมง แต่ไม่ชอบนอนกลางวัน
- รู้คำศัพท์มากขึ้นและแต่งประโยค 4-5 คำได้
- เริ่มนับเลขได้
- มักมีคำถามเสมอ
- ร้องเพลงง่าย ๆ ได้
- วาดรูปคน โดยมีใบหน้าและแขนขา
- พยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
- จำเรื่องราวในอีดตได้
- มักมีเพื่อนในจินตนาการ
- ชอบเล่นกับเพื่อนมากกว่าเล่นคนเดียว
- รู้ว่าชอบและสนใจอะไร
- อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากยิ่งขื้น
ช่วง 5 ขวบ
- ทรงตัวได้ดีและเครื่องไหวได้อย่างคล่องแคล่ว
- ปีนป่ายได้
- มีทักษะในการใช้อุปกรณ์ครื่องเขียน
- วาดรูปเรขาคณิตตามตัวอย่างได้
- เข้าห้องน้ำได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
- ใช้ช้อนและส้อมในการทานอาหาร
- ฟันแท้ซี่แรกเริ่มโผล่ขึ้นมาบริเวณเหงือก โดยเด็กส่วนใหญ่จะงอกพ้นเหงือกเมื่ออายุ 6 ขวบ
- เริ่มพูดชัดขึ้นและพูดได้เป็นประโยคมากกว่า 5 คำ
- แยกแยะความแตกต่างของเหรียญสิบ เหรียญห้า และเหรียญบาทได้
- นับเลขได้มากกว่า 10 และรู้จักสีมากขึ้น
- ต้องการเป็นที่พอใจของเพื่อน ๆ
- ก้าวร้าวน้อยลง ทำตามข้อตกลงได้มากขึ้น
- มีความรับผิดชอบและรู้จักขอโทษ
- อาจมีการเล่นบทบาทสมมุติ แต่แยกแยะเรื่องจริงกับบทบาทสมมุติได้
- อาจเลิกกลัวความมืดหรือสัตว์ประหลาด
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
แพทย์หญิง ศิริพร แจ่มจำรัส
กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านพัฒนาการเด็ก
ศูนย์กุมารเวช ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ
โทร. 02-836-9999 ต่อ 2721-2