World Medical Hospital (WMC), Thailand

Language


มะเร็งปอด

 

มะเร็งปอด

               มะเร็งปอดหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ซึ่งมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลกและเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตามมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

 

“มะเร็งปอด” เกิดจากอะไร
               มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยมะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์ ดังนี้

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
  • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ

ระยะของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก แบ่งเป็น 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 พบมะเร็งเฉพาะที่บริเวณปอดเท่านั้น ไม่พบในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดเล็กและพบแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด จากนั้นมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด หรือเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอื่นที่ห่างจากปอด หรือพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองรอบๆ ปอด และเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังผนังทรวงอกหรือบริเวณกลางช่องอก จากนั้นเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองอีกด้านของช่องอก หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า หรือมีเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในปอด หรือเนื้องอกเจริญเติบโตในอีกด้านของช่องอก เช่น หัวใจ หลอดอาหาร หรือมีของเหลวที่มีเซลล์มะเร็งอยู่รอบๆ ปอด
  • ระยะที่ 4 มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

 

“ปัจจัยเสี่ยง” การเกิดมะเร็งปอด  

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดได้

  • บุหรี่  สารพิษในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอดจนเกิดความผิดปกติของเซลล์
  • สารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม  มลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสสารแอสเบสตอส (Asbestos) หรือแร่ใยหินที่พบมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ ฉนวนกันความร้อน การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมถึงการสัมผัสฝุ่น PM2.5 นอกอาคารก็อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน
  • อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
  • กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอด ก็มีความเสี่ยงที่สมาชิกคนอื่นๆ

 

“การรักษา” มะเร็งปอด

  • ผ่าตัด (Surgery) ใช้สำหรับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ขนาดก้อนที่ไม่ใหญ่เกินไป จะมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ และไม่มีการยึดติดกับอวัยวะสำคัญต่างๆ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้
  • ฉายรังสี (Radiology) เป็นวิธีการรักษาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการผ่าตัด
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการฉีดหรือผสมสารละลายหยดเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
  • ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นวิธีการรักษามะเร็งโดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกลไกการเกิดมะเร็ง โดยวิธีการให้ยารับประทาน มีผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดีในผู้ป่วยที่ได้รับการตอบสนองต่อการรักษา มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การผสมยากับสารละลายแล้วหยดเข้าไปทางหลอดเลือด หวังผลเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด

ทั้งนี้วิธีการในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันแต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

------------------------------------------------------------------------------- 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ

โทร. 02-836-9999 ต่อ 2921-2