ภาวะ “มดลูกคว่ำ” สาเหตุมีลูกยาก ฝ่ายหญิง จริงหรือ!!!
‘มดลูก’ อวัยวะขนาดเล็กรูปร่างคล้ายลูกแพร์ แต่มีความแข็งแรงสวนทางกับขนาด เพราะเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อเรียงทับกันถึงสามชั้น จะมีลักษณะเป็นโพรงสามเหลี่ยมแบน ๆ มีทางแยกสามทาง คือ ทางไปยังช่องคลอด และอีกสองทางคือปีกมดลูกนั่นเอง
มดลูกประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
- ตัวมดลูก เป็นที่สำหรับให้ตัวอ่อนหรือทารกเจริญเติบโต แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ก็จะเป็นจุดขับประจำเดือน
- ปีกมดลูก มีลักษณะเป็นท่อยาวอยู่ด้านซ้ายและขวาของมดลูก
- ปากมดลูก เป็นช่องทางสำหรับให้อสุจิเข้าสู่ตัวมดลูกเพื่อผสมกับไข่ต่อไป
และสาเหตุที่ทำให้คุณผู้หญิงหลายคนเข้าใจผิดว่า มดลูกคว่ำเป็นสาเหตุให้ตกอยู่ภาวะมีบุตรยาก ซึ่งข้อเท็จจริงคือมดลูกจะมีการคว่ำหน้าเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะมดลูกนั้นเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนที่แบบอิสระ สามารถคว่ำหน้า อยู่กลาง หรือคว่ำหลังได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก แต่!! การเปลี่ยนทิศทางการคว่ำของมดลูกสามารถบอกโรคที่จะก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ เช่น
- โรคถุงน้ำช็อคโกแลตซิสต์
- โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเฉียบพลัน
- โรคพังผืดในอุ้งเชิงกราน
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- อุ้งเชิงกรานอักเสบหรือมีประวัติผ่าตัดในช่องท้อง
โดยอาจทำให้เกิดพังผืดขึ้นเหนี่ยวรั้งมดลูกไปทางหลังจนทำให้ท่อนำไข่เกิดการบิดเบี้ยวและอุดตัน อีกทั้งหากเกิดการอักเสบในมดลูกจะทำให้ไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน ส่งผลให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์นั่นเอง ดังนั้น หากพบความผิดปกติในร่างกายควรรีบปรึกษาและพบแพทย์ทันที เพื่อไม่ให้เกิดความอันตรายต่อร่างกายและลูกน้อยในอนาคต
บทความโดย : แพทย์หญิง เอื้อกานต์ ทนานใหญ่
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์ผู้มีบุตรยาก เวิลด์เมดิคอล ชั้น 4
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ (WMC)
โทร 02 836 9999 ต่อ 4706 , 4721-2