ใส่หน้ากากอนามัยแล้วสิวเห่อ...ต้องทำอย่างไร??
อย่างที่ทุกคนทราบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ถูกยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้หน้ากากอนามัยนานขึ้น จนเหมือนว่าหน้ากากอนามัยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว และด้วยสภาพอากาศของประเทศไทยที่ร้อน ทำให้การใส่หน้ากากอนามัย ทำร้ายผิวหน้าของเราโดยไม่ทันได้ตั้งตัว คงไม่มีใครคาดคิดว่าการหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสCOVID-19, PM 2.5 หรือมลภาวะอื่นๆ จะเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว และเกิดสิวบนใบหน้า จนเป็นปัญหากวนใจของใครหลายๆคน แล้วเราจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร??
สาเหตุของการเกิดสิว การใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานร่วมกับบ้านเรามีสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้มีเหงื่อและผิวหนังมีการสร้างน้ำมันมากขึ้น เกิดการอับชื้นของผิวหนังที่อยู่ภายใต้หน้ากากอนามัย มีการอุดตันจากสิ่งสกปรกภายนอก ร่วมกับการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย นอกจากนี้อาจเกิดจากการแพ้ระคายเคืองหรือการเสียดสีจากหน้ากากอนามัยที่ใส่ ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นเป็นสาเหตุของการเกิดสิวจากการใส่หน้ากากอนามัย
สิวที่เกิดจากการใส่หน้ากากอนามัย มีลักษณะอย่างไรบ้าง ?
- สิวอุดตันหัวเปิด หรือสิวหัวดำ (Blackheads หรือ open comedone) จะมีลักษณะเป็นจุดสีดำขึ้นบริเวณรอบๆ จมูกและใบหน้า เกิดจากการอุดตันของขน เนื้อเยื่อ และไขมันภายในรูขุมขน ในขณะที่สารเหล่านั้นโผล่พ้นขึ้นมาสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศจะทำปฏิกิริยาให้เปลี่ยนเป็นจุดสีดำ
- สิวอุดตันหัวปิด หรือสิวหัวขาว (Whiteheads หรือ close comedone) เกิดจากการอุดตันของเนื้อเยื่อ ไขมัน และแบคทีเรียในรูขุมขน เช่นเดียวกันกับสิวหัวเปิด เพียงแต่รูขุมขนที่อุดตันนั้นไม่ได้สัมผัสกับอากาศเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน และยังคงมองเห็นเป็นจุดสีขาวที่อุดตันอยู่บนผิวหนัง
- สิวผด สิวประเภทนี้จะมีลักษณะ เป็นตุ่มเล็กๆ สีขาว หรือสีชมพู แต่จะไม่มีหัว และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
วิธีป้องกันเบื้องต้น
- ใช้หน้ากากอนามัยใหม่ สะอาด และได้มาตรฐาน (หากใช้ยี่ห้อใดแล้วแพ้ ให้เลิกใช้ แล้วหายี่ห้ออื่นมาใช้แทน)
- ไม่สวมใส่หน้ากากเป็นเวลานานจนเกินไป ควรมีช่วงที่ถอดหน้ากากอนามัยเพื่อระบายอากาศทุก 3-4 ชั่วโมง ในสถานที่ส่วนตัว ไม่มีคนอื่น แต่หากต้องอยู่ในที่ชุมชนตลอด ไม่แนะนำให้ถอดหน้ากากอนามัย
- เมื่อมีผื่นขึ้นใบหน้า ควรเลี่ยงการแต่งหน้า
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันที่ผิวหนัง ได้แก่กลุ่ม Non comedogenic และ Oil free product
แม้ว่าอาการของสิวจะอยู่ในระยะแรก หรือเพิ่งเริ่มเป็นสิว แต่ถ้าเริ่มรักษาโดยเร็วและถูกวิธี ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดียิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแผลเป็นสิวอีกด้วย
บทความโดย :
พญ.ทิวานันท์ พรหมวรานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญด้านผิวหนังและความงาม
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
ศูนย์เวชศาสตร์ความงามและศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล(WMC)
โทร 02-836-9999 ต่อ 4521-2