ไขข้อสงสัย การรักษามีบุตรยาก เด็กเสี่ยงเกิดความผิดปกติจริงหรือ!?
ภาวะมีบุตรยากคือปัญหาหนักใจของคู่รักหลายคู่ที่ปล่อยธรรมชาติมานานแรมปี แต่ก็ยังไม่มีเบบี๋มาให้ชื่นใจ แต่หากจะทำการรักษาภาวะมีบุตรยาก กลับมีความกังวลใจเกี่ยวกับลูกน้อยว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม พัฒนาการช้า หรืออวัยวะภายในไม่สมบูรณ์ ขึ้นหรือไม่ “ไขข้อข้องใจการรักษามีบุตรยาก เสี่ยงเด็กเกิดความผิดปกติจริงหรือ!?”
ภาวะมีบุตรยากคืออะไร? มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง?
ภาวะมีบุตรยาก คือ คู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่กลับไม่มีบุตร นอกจากนี้ในคู่สมรสที่มีอายุมากกว่า 30 ปี หรือฝ่ายหญิงมีโรคประจำตัว อาทิ ประจำเดือนมาผิดปกติ และปวดประจำเดือนมาก คือกลุ่มที่ควรเข้าปรึกษาถึงภาวะการมีบุตรยากทันทีโดยไม่ต้องรอถึง 1 ปี ซึ่งการรักษามีบุตรยากในปัจจุบันมีด้วยกันหลายวิธี แตกต่างกันไปตามปัจจัยทางด้านร่างกาย อายุ หรือสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก อาทิ
- การนับวันตกไข่ และมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ
- การฉีดหรือรับประทานยา เพื่อให้เกิดการตกไข่
- การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก IUI
- การปฏิสนธินอกร่างกาย IVF,ICSI
- การผ่าตัด
ทารกที่เกิดจากการรักษามีบุตรยากเสี่ยงเกิดความผิดปกติจริงหรือ?
หลายข้อกังวลของว่าที่คุณพ่อคุณแม่คือสุขภาพและความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม พัฒนาการช้า หรืออวัยวะภายในไม่สมบูรณ์ของเจ้าตัวน้อย แต่จากงานวิจัยพบว่าอัตราการเกิดความพิการในเด็กโดยทั่วไปไม่ได้แตกต่างกัน และหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดดาวน์ซินโดรมในเด็กนั้น คืออายุของคุณแม่ โดยคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดดาวน์ซินโดรมต่อเด็กในครรภ์สูงถึง 1 ใน 250
ดังนั้น สรุปได้ว่าการรักษามีบุตรยาก ไม่เกี่ยวข้องหรือส่งผลต่อการเกิดความผิดปกติกับทารก แต่ความผิดปกติของทารกจะสัมพันธ์กับอายุมารดาที่มากขึ้น ซึ่งการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการป้องกันความเสี่ยงเรื่องโครโมโซมผิดปกติ โดย “การตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (PGT)" เพื่อตรวจหาความผิดปกติของตัวอ่อน และเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์
บทความโดย : แพทย์หญิง เอื้อกานต์ ทนานใหญ่
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์ผู้มีบุตรยาก เวิลด์เมดิคอล ชั้น 4
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ (WMC)
โทร 02 836 9999 ต่อ *4706