ถ้า..คุณปู่ คุณย่า หรือคุณตา คุณยาย เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม คุณมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าปกติ แต่…
โรคข้อเข่าเสื่อม หรือ Osteoarthritis of the knee เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของข้อเข่าโดยเฉพาะกระดูกอ่อนภายในข้อ ส่วนมากการเสื่อมนี้จะเกิดในผู้สูงอายุ จัดเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุมากกว่า 50 ปี โดยจากสถิติพบผู้ชายมีอาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมถึงร้อยละ 10 และผู้หญิงถึงร้อยละ 13 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียวครับ
ข้อเข่าเสื่อม ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่า เข่าติดขัด เข่าอักเสบ บางครั้งถึงขนาดเดินไม่ไหวได้ทีเดียว โดยปกติแล้วกระดูกอ่อนจะค่อยๆ สึก ตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อไหมครับว่า จากงานวิจัยพบผู้ป่วยอายุเพียงยี่สิบปลายๆ ก็มีเริ่มมีข้อเข่าเสื่อมได้แล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ที่เร่งการเสื่อมของข้อเข่า ปัจจัยเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เราไปดูกันครับ
- กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม คุณมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าปกติ แต่… เดี๋ยวก่อน!! ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเสมอไปนะ ถ้าเราสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน หรือเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อม รวมไปถึงการฝึกกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง อย่างสม่ำเสมอ หมอบอกได้เลย ว่าโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมในอนาคตจะลดลงอย่างแน่นอน
- ความอ้วน จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญและมีความเกี่ยวพันกับโรคข้อเข่าเสื่อมโดยตรง ด้วยหลักการที่ว่ากระดูกอ่อนในข้อเข่าจะรับน้ำหนักของร่างกายในขณะทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะหากมีท่าที่ต้องงอเข่ามากๆ กระดูกอ่อนจะรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ และแน่นอนว่าแรงกระทำจะมากตามน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้นเช่นกัน การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากจนเกินไปจึงจัดเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการเกิดข้อเข่าเสื่อม หมอพูดได้เลยว่า “ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรงที่สุด แต่ควบคุมได้ครับ”
- การบาดเจ็บของข้อเข่า ส่วนมากมักเกิดจากอุบัติเหตุ แรงกระแทกจะส่งผลทำให้กระดูกอ่อนในข้อเข่าเกิดการบอบช้ำหรือฉีกขาด การบาดเจ็บนี้มีผลอย่างมากในการเร่งขบวนการเสื่อมของข้อเข่าให้เร็วมากยิ่งขึ้น โดยจากรายงานการวิจัยพบว่า หากเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่าตอนอายุ 25-34 ปี ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมขึ้นในอีก 11 ปีข้างหน้าได้มากกว่าคนปกติถึง 6 เท่าทีเดียว
นอกจากนี้ยังพบว่า การบาดเจ็บของข้อเข่าแต่ละแบบ ส่งผลทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมมากน้อยแตกต่างกัน โดยเอ็นไขว้ข้อเข่าฉีกขาด, หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด และการแตกร้าวของกระดูกข้อเข่า จัดเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเข่อเสื่อมได้สูงสุด หมอจึงขอแนะนำให้ป้องกันและหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุให้มากที่สุดครับ
- อาชีพบางอย่าง หมอจะกล่าวโดยภาพรวมให้เข้าใจได้ง่ายๆ ครับ อาชีพหรือการทำงานที่มีการนั่งยองๆ นั่งกับพื้น หรือมีการลงน้ำหนักที่ข้อเข่าเป็นปริมาณมากและต่อเนื่อง ซ้ำไปซ้ำมา จะทำให้ข้อเข่าสึกได้เร็วว่าปกติ ตัวอย่าง เช่นนักกระโดดร่มที่ฝึกซ้อมเป็นประจำ ขณะลงแตะพื้นข้อเข่าต้องรับแรงกระแทกมากกว่าปกติ ซึ่งเกินกว่าแรงที่ข้อเข่าจะรับได้ (แรงกระแทกที่สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนคือ 25 MPa) โดยพบว่านักกระโดดร่ม เกิดข้อเข่าเสื่อมมากกว่าคนอื่นๆ ที่อายุเท่าๆ กัน ในทำนองเดียวกันกับนักกีฬาที่ต้องใช้ข้อเข่าอย่างมากและต่อเนื่อง ก็จะมีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมได้สูงกว่าคนปกติเช่นกัน
- กีฬา การออกกำลังกายนั้นดีต่อสุขภาพครับ หมอสนับสนุนให้ผู้อ่านทุกท่านนั้นออกกำลังกาย โดยหมอขอแนะนำให้เลือกกีฬาหรือการออกกำลังกายที่เหมาะสม เนื่องจากการเสื่อมของข้อเข่าในคนอายุน้อยนั้นสามารถเกิดจากกีฬาบางชนิดได้ โดยเฉพาะกลุ่ม กีฬา ที่มีแรงกระแทกที่ข้อเข่าอย่างมากเช่น ฟุตบอล รักบี้ กระโดดไกล เนื่องมาจากเกิดแรงกระทำต่อข้อเข่าปริมาณมาก และมีความถี่อย่างต่อเนื่อง จึงพบว่านักกีฬาเหล่านั้นมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าบุคคลทั่วไป แม้ว่าโดยปกติน้ำข้อเข่าจะลดแรงกระแทกลงได้ส่วนหนึ่งก่อนเหลือแรงไปถึงที่กระดูกอ่อน แต่หากว่าแรงกระแทกนั้นสูงมาก หรือเกิดขั้นอย่างเฉียบพลันเกินกว่าที่น้ำข้อเข่าจะซับแรงไว้ได้ แรงกระแทกนี้จะส่งผลให้กระดูกอ่อนเกิดการบาดเจ็บได้ในที่สุด
อีกทั้งยังพบว่านักกีฬาที่มีเอ็นข้อเข่าหรือหมอนรองข้อเข่าฉีดขาด จะมีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าปกติ และการที่กระดูกอ่อนนั้นไม่มีปลายประสาทรับความรู้สึก ส่งผลให้นักกีฬาเหล่านั้นเล่นต่อโดยไม่รู้ว่ากระดูกอ่อนของตนได้รับบาดเจ็บเสียแล้ว
นอกจากหมอจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีปัจจัยที่พบว่ามีผลลดการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้นั่นก็คือ การมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง การฝึกกล้ามเนื้อขาส่วนหน้า (Quadriceps muscle) มีผลโดยตรง สามารถช่วยลดแรงกระแทกที่บริเวณข้อเข่า ส่งผลลดการเสื่อมของข้อเข่าได้
เพราะข้อเข่าเสื่อม ไม่ใช่โรคสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น การมีความรู้เพื่อดูแลและป้องกันข้อเข่าไม่ให้เสื่อมจึงมีความสำคัญ สุดท้ายนี้หมอขอฝากให้ออกกำลังกล้ามเนื้อขา และอย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวขึ้นมากเกินไปนะครับ
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย
นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านคลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง (Advanced Orthopedics Center) ชั้น 2
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02-836-9999 กด 4 หรือ *2621-2