“โรคสะเก็ดเงิน” เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร โดยสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยและทุกประเทศ ถึงแม้โรคสะเก็ดเงินจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่มักจะมีผลต่อสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ป่วย ณ ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจพบมีสัมพันธ์กับโรคอื่นๆได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และกลุ่ม metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น
อะไรเป็นสาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
ผื่นของโรคเกิดจากมีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงของโรค สิ่งกระตุ้นที่พบเป็นสาเหตุบ่อยๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อ เช่น หวัด การได้รับอันตรายของผิวหนัง เช่น การแกะ เกา ยาบางชนิด ความเครียด ความอ้วน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไป ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยอย่างเดียวก็มักจะเพียงพอในการวินิจฉัยโรค แต่ในบางระยะของโรคสะเก็ดเงิน การวินิจฉัยอาจแยกกับโรคอื่นได้ยาก ในกรณีดังกล่าวการตรวจชิ้นเนื้อของผื่นผิวหนังจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
ลักษณะทางคลินิก
โรคสะเก็ดเงินจำแนกเป็นชนิดต่างๆ ตามลักษณะทางคลินิกดังต่อไปนี้
ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด รอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงินจึงได้ชื่อว่า “โรคสะเก็ดเงิน” พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีได้บ่อย
ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน
ชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย
ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นชนิดรุนแรง ผิวหนังมีลักษณะแดงและมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยกระตุ้น
สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคบริเวณซอกพับของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม ลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรังและมักไม่ค่อยมีขุย
สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เป็นผื่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก ผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้
เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักพบมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม เล็บร่อน เล็บหนาตัวขึ้นและเล็บผิดรูป รอยโรคที่เล็บของสะเก็ดเงินรักษาได้ค่อนข้างยาก
ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจมีการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียว หรือหลายข้อก็ได้
จุดประสงค์ของการรักษา
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จะทำให้หายขาดจากโรค การรักษาจึงมุ่งไปที่การทำให้ผื่นของโรคดีขึ้นหรือสงบลง พร้อมกับป้องกันไม่ให้กำเริบ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ การได้รับอันตรายของผิวหนัง ยาบางชนิด และความเครียดต่างๆ เป็นต้น
ขั้นตอนการรักษา
ในปัจจุบัน มีทั้งยาทาและยารับประทานที่ได้ผลดีในการรักษา ซึ่งแต่ละชนิดมีผลดีและผลเสียที่ต่างกัน การเลือกให้การรักษาจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายประการ เช่น ตำแหน่งของผื่น ความระคายเคืองของยา เศรษฐฐานะของผู้ป่วยเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษา และความสะดวกของผู้ป่วยที่จะมารับการรักษา เป็นต้น
สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ1%) ควรได้รับการรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดจากยารับประทาน
สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียมและยาทา
การรักษาด้วยยาทา
ในปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้ ซึ่งยาแต่ละชนิดมีผลดีและผลเสียต่างกัน ได้แก่
ยาทาภายนอก ยาทารักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายชนิด ได้แก่
ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้ ราคาไม่แพงนัก และไม่ระคายเคือง ถ้าใช้ในระยะสั้นมักจะไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง ยาทาคอติโคสเตียรอยด์มีความแรงของยาตั้งแต่น้อยไปถึงมาก หากใช้ชนิดแรงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียได้หลายประการ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวขาว รวมถึงอาจเกิดการดื้อยา และอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้ ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวควรจะใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นไม่ควรซื้อใช้เอง
น้ำมันดิน (tar) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี ให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับยาทาคอติโคสเตียรอยด์ แต่น้ำมันดินมีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น และเวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม และน้ำมันดินอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ จึงไม่ควรใช้ทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ
อนุพันธ์วิตามิน ดี (calcipotriol) มีฤทธิ์ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังกลับสู่ปกติ ให้ผลการรักษาดี รวดเร็วพอๆ กับยาทาคอติโคสเตียรอยด์ความแรงระดับกลาง แต่ไม่มีผลเสียเหมือนยาทาคอติโคสเตียรอยด์ และไม่มีสีหรือกลิ่นเหมือนน้ำมันดิน ข้อเสียของยานี้คือราคาแพง และหากทาบริเวณผิวหนังที่บาง อาจมีการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ ปัจจุบันมียาทาที่ผสมระหว่างอนุพันธ์วิตามิน ดี และยาทาคอติโคสเตียรอยด์เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียง
ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor (tacrolimus, pimecrolimus) อาจนำมาใช้ในการรักษาผื่นสะเก็ดเงินบริเวณหน้าหรือตามซอกพับ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ แต่มีราคาแพง
ยารับประทานรักษาโรคสะเก็ดเงิน พิจารณาให้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก การใช้ยารับประทานควรจะใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากยา
การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy)
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงิน แต่ผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 – 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา ข้อดีคือส่วนใหญ่การกลับเป็นซ้ำของโรคจะน้อยกว่าการรักษาโดยใช้ยาทาหรือยารับประทาน
นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญมาก การเข้าใจความจริงที่ว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะช่วยควบคุมโรคให้สงบได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นซึ่งได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อย การดื่มสุรา ความอ้วน การแกะเกา รวมถึงยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาทางจิตเวช (lithium) เป็นต้น
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย
ศูนย์ผิวหนัง ชั้น 4
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์ผิวหนัง (Advance Skin Center) ชั้น 4
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ( WMC )
โทร. 02-836-9999 ต่อ *4521-2