“ผื่นกุหลาบ” หรือ “โรคขุยดอกกุหลาบ” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายอะไรมากนัก แต่กลับเป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้พอสมควร เพราะจะเกิดผื่นขึ้นทั่วร่างกาย หรือในบางรายก็อาจพบอาการอื่นๆร่วมด้วย วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันว่าโรคผื่นกุหลาบมีสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา อย่างไรบ้าง…
ผื่นกุหลาบ หรือผื่นขุยกุหลาบ (Pityriasis rosea) และสาเหตุ
เป็นโรคผิวหนังที่ไม่ค่อยรุนแรง ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของผิวหนังต่อภาวะบางอย่าง เช่น โรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดในกลุ่ม Human herpes virus 6, 7 ซึ่งไม่ใช่ไวรัสสายพันธ์ุที่เป็นสาเหตุของโรคเริมและโรคอีสุกอีใส และผื่นกุหลาบไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้ สาเหตุอื่นๆที่พบได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การใช้ยาบางประเภทก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นกุหลาบได้ เช่น Captoprilยาลดความดันโลหิตกลุ่มยาต้านเอนไซม์เอซีอี ยาฆ่าเชื้อMetronidazole ยาIsotretinoinที่ใช้รักษาสิว ยาOmeprazoleสำหรับรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ยาTerbinafineสำหรับรักษาเชื้อรา เป็นต้น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน พบน้อยในเด็กอายุต่ำกว่า10ปี
ส่งผลให้เกิดผื่นขึ้นบริเวณหน้าอก หลัง ต้นแขน ต้นขา คอ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 4 นิ้ว โดยฝื่นจะปรากฎขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป 6-12 สัปดาห์ และอาจหายไปเองภายใน 1-3 เดือน โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ทั้งยังไม่สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นโดยการสัมผัส ผื่นกุหลาบมักส่งผลกระทบต่อเด็ก ผู้ใหญ่ และวัยรุ่นช่วงอายุ 10-35 ปี แต่สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
อาการของผื่นกุหลาบ
ผื่นจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีผื่นรูปวงรีราบสีชมพูหรือแดงขนาดใหญ่1ผื่น ตรงกลางจางกว่ารอบๆ นำมาก่อน มีขุยละเอียดสีขาวรอบๆผื่น คล้ายปกเสื้อ (collarette scales) เรียกว่า ผื่นแจ้งข่าวหรือผื่นแจ้งโรค (Herald patch) ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณลำตัวที่อยู่ในร่มผ้า เช่น ท้อง หน้าอก คอ หลัง ไม่ค่อยพบผื่นที่หน้า หรือบริเวณอวัยวะเพศ
ระยะที่ 2 ไม่เกิน 2 สัปดาห์ (แต่มีรายงานว่าห่างจากระยะที่1 ได้ถึง2เดือน) ผื่นลักษณะคล้ายกัน แต่ขนาดเล็กกว่า จะเพิ่มจำนวนขึ้น โดยมักพบผื่นกระขายที่ลำตัว หลัง ต้นแขน และต้นขา โดยผื่นมักจะกระขายตามเส้นพับของร่างกาย ซึ่งหากมองบริเวณลำตัว จะดูคล้ายลักษณะของต้นคริสต์มาส (christmas-tree pattern) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้วินิจฉัยจากอาการได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคัน ระคายเคืองร่วมด้วย โรคนี้มักไม่พบผื่นที่มือ เท้า หรือในช่องปาก อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางส่วนอาจพบผื่นในตำแหน่งอื่นๆ เช่น ซอกพับ หน้า หรือฝ่าเท้า เรียกว่ากลุ่ม Atypical pityriasis rosea ซึ่งอาจต้องใช้การตัดชิ้นเนื้อผิวหนังตรวจเพื่อการวินิจฉัย อาจมีอาการคัน ระคายเคืองร่วมด้วย
บางคนอาจรู้สึกไม่สบายร่วมด้วย เช่น ปวดศรีษะ มีไข้ ปวดข้อ ร่วมด้วย
ทั้งนี้ อาการผื่นขุยทั้ง 2 ระยะจะปรากฏอยู่นาน 2-12 สัปดาห์ อาจหายแล้วทิ้งรอยดำได้ แต่จะไม่ทำให้เกิดแผลเป็น บางรายอาจมีอาการคงอยู่นานถึง 5 เดือนและหายไปเอง
การวินิจฉัย
ในเบื้องต้น แพทย์มักวินิจฉัยผื่นกุหลาบด้วยการตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดความผิดปกติ หากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจสั่งตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น
• เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ บริเวณที่เป็นผื่นแล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อรา เพราะผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายผื่นกุหลาบ
• ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกายคล้ายผื่นกุหลาบ
• ในบางกรณีที่ผื่นไม่มีลักษณะสำคัญที่ทำให้วินิจฉัยจากอาหารได้ อาจต้องใช้การตัดชื้นเนื้อผิวหนังตรวจ เช่น กรณีเป็น Atypical pityriasis rosea
วิธีการรักษาผื่นกุหลาบ
ผื่นกุหลาบ ไม่ใช่โรคติดต่อ โดยปกติแล้วอาการผื่นกุหลาบมักจะหายไปได้เองภายใน 2-12 สัปดาห์ การรักษาเป็นแบบการประคับประคองตามอาการเป็นหลัก
การใช้ยารักษา
• ยารับประทานแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine ใช้เพื่อลดอาการคันที่ผิวหนัง
• ยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัสที่มีรายงานการใช้ คือ erythromycin 250mg วันละ4ครั้ง หรือ acyclovir 800mg วันละ5ครั้ง เป็นเวลา1สัปดาห์ ซึ่งพบว่าสามารถลดระยะเวลาการเกิดผื่นได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น จึงแนะนำให้ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผื่นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ไข้ ผื่นขึ้นเยอะมากทั่วตัว และต้องประเมินโอกาสการเกิดผลข้างเคียงของยาในผู้ป่วยร่วมด้วย
• ครีมบำรุงผิว(Moisturizer) ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวบริเวณที่เกิดผื่น
• ยาทาในกลุ่ม Steroidใช้เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง
• และในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB Light Therapy) เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลง
การดูแลตัวเองสำหรับโรคผื่นขุยกุหลาบ
• อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด
• เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
• หลีกเลี่ยงการเกาผื่น ถูผื่นแรงๆ และตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการเกา
• สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายเคืองต่อผิวหนัง
• หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน เพราะสภาพอากาศที่อบอ้าว และการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยบางรายสังเกตตัวเองว่า มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นได้บ่อย ก็อาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้นๆ เช่น ยาบางชนิด อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เหงื่อ สิ่งแวดล้อมบางอย่าง เป็นต้น
การป้องกันโรคผื่นขุยกุหลาบ
ยังไม่มีวิธีการป้องกันโรค เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างแน่ชัด
ผื่นกุหลาบ สามารถพบได้ตลอดทั้งปี โดยส่วนใหญ่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน อาจเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง เป็นโรคที่ไม่รุนแรง หายไปได้เองภายใน 2-12 สัปดาห์ การทราบถึงตัวโรคและสาเหตุ รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตนและพยากรณ์โรค จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจภาวะที่เป็นมากขึ้น ไม่เครียดไม่กังวลจนเกินไป การรักษาตามอาการ เช่น ยารับประทานลดอาการคัน หรือยาทากลุ่ม Steroid จะช่วยบรรเทาอาการคันได้
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย
ศูนย์ผิวหนัง ชั้น 4
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์ผิวหนัง (Advance Skin Center) ชั้น 4
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ( WMC )
โทร. 02-836-9999 ต่อ *4521-2