“ปวดหลัง” ใคร ๆ ก็เคยเป็น แต่จะรู้เมื่อไรว่าเรานั้นเป็น “โรคปวดหลังเรื้อรัง” เสียแล้ว
ก่อนจะกล่าวถึง 4 สาเหตุหลักของอาการปวดหลังเรื้อรัง หมอขออธิบายนิยามความหมายของคำๆ นี้ก่อน หากผู้อ่านมีอาการปวดหลัง ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะ “ปวดหลังส่วนล่าง” ใต้ต่อแนวชายโครงลงไปถึงสะโพก มีอาการขัดหรือปวดเวลาขยับ รู้สึกไม่สบายตัว โดยที่อาจมีหรือไม่มีอาการปวดร้าวลงขาก็ได้ แต่อาการนั้นเป็นมากกว่า 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน โดยนับจากวันที่ปวดครั้งแรก หรือวันที่เกิดอุบัติเหตุ ระยะเวลารวมถึงช่วงที่อาการดีขึ้นแล้ว แต่กลับเป็นใหม่ ถือว่าผู้อ่านมีภาวะ “โรคปวดหลังเรื้อรัง” ครับ
จากสถิติพบว่าร้อยละ 15-45 ของวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ มีอาการปวดหลัง ร้อยละ5 มีอาการปวดมากจนต้องไปโรงพยาบาล มีถึงร้อยละ 10 ที่อาการปวดรบกวนชีวิตและการทำงาน และร้อยละ 20 ที่อาการปวดเป็นติดต่อกันมากกว่า 1 ปี ฟังดูแล้วไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยนะครับ
4 สาเหตุหลัก ของอาการปวดหลังเรื้อรังมีอะไรบ้าง เรามาดูกันครับ
ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังหลายๆชิ้นนั้น ประกอบต่อกันด้วยข้อต่อ ซึ่งข้อต่อเหล่านั้นสามารถขยับได้ โดยมีกระดูกอ่อนเป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักและเคลื่อนไหว คล้ายกับข้อเข่า โดยกระดูกอ่อนจะมีคุณสมบัติที่ลื่นและลดแรงเสียดทานไปด้วยพร้อมๆ กัน แต่กระดูกอ่อนนั้นเป็นโครงสร้างที่สามารถสึกบางลงได้ คล้ายกับยางรถยนต์ พอการสึกบางนี้เป็นต่อเนื่องถึงจุดหนึ่ง ก็จะเกิดความเสื่อมขึ้นตามมา ส่งผลให้เกิด โรคปวดหลังเรื้อรัง ได้ครับ
กระดูกหลังเสื่อม ทับเส้นประสาท เมื่อกระดูกหลังเสื่อมลงเรื่อยๆ ร่างกายจะมีการปรับตัว โดยจะมีการงอกของกระดูกสันหลังบางส่วน มีเนื้อเยื่อรอบข้อต่อกระดูกหลังที่หนาตัวขึ้น ซึ่งเหตุเหล่านี้มีโอกาสกดทับเส้นประสาทบริเวณหลัง แล้วทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือ ปวดร้าวลงสะโพก และ ขาได้
ปวดจากหมอนรองกระดูกหลัง ไม่ว่าจะเป็นจากหมอนรองกระดูกหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือ หมอนรองกระดูกหลังเสื่อมก็ตาม โดยหมอนรองกระดูกหลังที่เสื่อมจะทำให้มีสารอักเสบออกมาบริเวณรอบๆ ส่งผลให้มีอาการปวดหลังเรื้อรังได้
ปวดจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง หรือ myofascial pain syndrome ซึ่งสาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหนึ่งมัด หรือ มากกว่านั้น อักเสบ แล้วมีอาการปวดร้าวลามไปบริเวณหลัง โดยความสำคัญคือ จุดที่มีการอักเสบจะชัดเจนอยู่ที่กล้ามเนื้อครับ
การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง มีความสำคัญอยู่ที่การหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นจากประวัติการปวด การตรวจร่างกาย ไปจนถึงใช้เครื่องมือช่วยในการวินิจฉัย เช่น อัลตราซาวด์, เอ็กซเรย์ทั่วไป และเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อได้การวินิจฉัยที่แม่นยำแล้ว จึงรักษาให้ตรงจุด โดยปัจจุบันมี “วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัด” หลายวิธีตามแต่สาเหตุและระดับความรุนแรงของโรค เช่น รับประทานยา, ทำกายภาพบำบัด, การปรับลดความเครียด, การปรับพฤติกรรมในการทำงาน ไปจนถึงการฉีดยาด้วยหลักการและวิธีต่างๆ
โดยส่วนมากแล้วอาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อทั่วๆ ไป มักหายได้ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ หากว่าอาการเหล่านั้น เป็นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือเป็นๆหายๆ หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาสาเหตุและรักษาก่อนจะเป็นมากถึงขั้นเรื้อรังครับ
สุดท้ายนี้ หมอขอฝากผู้อ่าน ให้ออกกำลังฝึกกล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อท้องให้แข็งแรง เพื่อช่วยพยุงกระดูกหลังและข้อต่อ ลดการอักเสบหรืออาการปวดหลังเรื้อรังได้ในระยะยาวครับ
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย

นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านคลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง (Advanced Orthopedics Center) ชั้น 2
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02-836-9999 กด 4 หรือ *2621-2
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

