ช่วงปลายฤดูฝนไปจนถึงต้นฤดูหนาว คุณพ่อและคุณแม่คงเคยได้ยินโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV โรคชนิดนี้เป็นหนึ่งในโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ในวัยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี โรคชนิดนี้เกิดได้หลายช่วงอายุ แต่ในวัยผู้ใหญ่พบว่าจะมีอาการไม่รุนแรง อาการที่รุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ป่วยอายุน้อย มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจหรือปอด หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น การติดเชื้อโรค RSV เกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส RSV จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ที่มีเชื้อโรคนี้ โดยไวรัสชนิดนี้ ในช่วง 1-3 วันแรกจะมีอาการเหมือนโรคหวัด คือ มีไข้ น้ำมูก เจ็บคอ ไอ และมีอาการคัดจมูก แต่หลังจากวันที่ 3 ขึ้นไป อาการไอเสมหะมากขึ้น หอบ เหนื่อย หายใจเร็ว บางรายได้ยินเสียงครืดคราดหรือเสียงวี๊ด ซึ่งอาการดังกล่าวมักไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ ถ้าผู้ป่วยมีแค่อาการหวัดมักจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยวัยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างทำให้เกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบได้ ในบางรายรุนแรงมากถึงขั้นมีภาวะการหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนในกลุ่มทารกแรกเกิดพบว่ามีอาการหยุดหายใจชั่วขณะได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีโอกาสเสียชีวิต ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการเบื้องต้น คือ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล แต่หลังจาก 3 วันไปแล้ว จะมีอาการไอมากขึ้น มีไข้ หายใจลำบาก รับประทานอาหารได้น้อยลง มีอาการซึม ควรรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์
โดยการวิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่ลักษณะคล้ายคอตตอนบัดสอดเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่ง และจะส่งไปตรวจที่ห้องตรวจปฏิบัติการ ผ่านเครื่องอ่านผล โดยสามารถทราบผลการตรวจภายใน 20-30 นาทีโดยประมาณ เมื่อทราบผลตรวจแพทย์จะสั่งการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
โรคนี้สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นโดยการติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของผู้ป่วย โดยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลังจากผู้ป่วยเริ่มได้รับเชื้อไปแล้ว 2-3 วัน ถึงไปจนกว่าอาการต่างๆจะหายสนิท ดังนั้นในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการควรลดการแพร่กระจายเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูก ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเบื้องต้นการหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส RSV คือ การหลีกเลี่ยงไปที่ชุมชนแออัด เนื่องจากสภาวะอากาศการถ่ายเทไม่เพียงพอ ทำให้ง่ายต่อการแพร่กระจายและรับเชื้อโรค และควรล้างมือก่อนสัมผัสเด็กเล็กทุกครั้ง ซึ่งการรักษาสุขลักษณะที่ดีและการล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดการติดต่อของเชื้อโรคลงได้ รวมทั้งควรเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงระบาดของโรคนี้
ในปัจจุบันโรค RSV ยังไม่มียารักษาเฉพาะ และผู้ป่วยที่เป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาแก้ไอ เป็นต้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงมีอาการของหลอดลมหรทือปอดอักเสบ อาจจะต้องมีการให้ยาพ่น ร่วมกับการให้ออกซิเจน เคาะปอดหรือดูดเสมหะ บางรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจต้องมีการใส่เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง อิงคนิจ ชลไกรสุวัฒน์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจในเด็ก
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์กุมารเวช ( Pediatric Center) ชั้น 2
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02-836-9999 กด 3 หรือ ต่อ *2721
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง






