“ตับ” เป็นอวัยวะที่มีความเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ของร่างกาย เปรียบเสมือนหัวใจดวงที่ 2 ทำหน้าที่ควบคุมระดับสารเคมีในเลือดและสร้างน้ำดี หากตับเกิดการติดเชื้อหรือมีการอักเสบของเซลล์ตับจนเนื้อเยื่อถูกทำลาย จะทำให้การทำหน้าที่ต่างๆ ของตับผิดปกติ นำไปสู่การเจ็บป่วยไม่สบายได้ ดังนั้นบทความนี้พาทุกท่านมาทำความรู้จักกับไวรัสชนิดต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคตับอักเสบกัน
รู้จักชนิดสายพันธุ์ไวรัส สาเหตุของโรคตับอักเสบ
การติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคตับอักเสบ ซึ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี โดยไวรัสแต่ละชนิดมีการติดต่อแตกต่างกันไปตามชนิดและลักษณะเฉพาะ หากมีการติดเชื้อจะส่งผลให้ตับมีการอักเสบ และหากปล่อยไว้จนเรื้อรังอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่นๆ ตามมาอาทิ โรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ
- ไวรัสตับอักเสบ A
ไวรัสตับอักเสบชนิด A สามารถติดต่อได้ทางอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่หากเป็นแล้วมักจะหายเป็นปกติไม่เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างการพักฟื้น
- ไวรัสตับอักเสบ B
เชื้อไวรัสชนิด B สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์หรือทางเลือด รวมถึงมีโอกาสติดเชื้อจากคุณแม่ตั้งครรภ์สู่ลูกน้อยได้ ซึ่งเชื้อดังกล่าวสามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วในเซลล์ตับ ทำให้เกิดการอักเสบและตับถูกทำลาย หากปล่อยทิ้งไว้ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้
- ไวรัสตับอักเสบ C
เชื้อไวรัสชนิด C สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์หรือทางเลือด แต่ไม่ติดต่อจากการไอจาม หรือรับประทานอาหารร่วมกัน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด C มักไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ เนื่องจากอาการแสดงไม่ชัดเจน แต่หากปล่อยไว้นานมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้
ปัจจัยเสี่ยงไวรัสตับอักเสบ
- ผู้ที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป หรือเกิดก่อนปี พ.ศ. 2535
- ใช้สารเสพติดแบบฉีด
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย
- สักลาย เจาะหู ฝังเข็ม โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด
- การรับประทานอาหารหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่มีความเสี่ยง
- การสัมผัสเลือด น้ำลายของผู้ป่วยเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือรอยถลอก
อาการ
- มีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย
- จุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อต่าง ๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
- ท้องเสีย
- ปัสสาวะสีเข้ม
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
การป้องกัน
- รับประทานอาหารปรุงสุกและน้ำดื่มที่สะอาด
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด
- เครื่องมือที่ใช้ในการสักลาย เจาะหู ฝังเข็ม ต้องสะอาดและปลอดภัย
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ โดยวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีสามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดต้องฉีดให้ครบชุดจำนวนวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย
- หากต้องการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบในผู้ใหญ่ควรได้รับการตรวจเลือด เนื่องจากผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนหรือมีภูมิต้านทานแล้วไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
ผู้ที่ควรรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบ A B
- เด็กเล็กอายุมากกว่า 1 ปี
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่ได้รับการให้เลือด
- ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ
- ผู้ที่เดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันความเสี่ยงโรคไวรัสตับอักเสบ สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ A และ B สำหรับผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด ทั้งนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรเข้ารีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยสาเหตุและเข้ารับการรักษาต่อไป
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย

นายแพทย์ วชิรพงศ์ เอกไพบูลย์
แพทย์เฉพาะทางอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและเอ็นโดสโคป ชั้น 3
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ( WMC )
โทร. 02-836-9999 ต่อ *3821-2
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง
