โรคปวดหลังส่วนล่าง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
- เกิดจากการใช้งาน อาทิ การนั่งนาน การยืนนาน หรือการก้มๆ เงยๆ หรือการก้มยกของหนัก
- เกิดจากการเสื่อมของข้อต่อกระดูกหลังตามวัย หรือจากการทำงาน ทำให้ข้อต่อเสื่อม และอักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวดได้
- เกิดจากเส้นประสาทบริเวณหลังถูกกดทับ ทำให้มีอาการปวดมาบริเวณหลังส่วนล่าง
อาการจะปวดหน่วงๆ ปวดร้าวบริเวณหลังส่วนล่างและบริเวณสะโพก อาการจะเป็นๆ หายๆ บางครั้งอาการจะเป็นมากขึ้นตามการใช้งาน เช่น ก้มยกของหนัก หรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน หากมีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย จะมีอาการปวดร้าวลงบริเวณสะโพกและลงบริเวณขา ร่วมกับมีอาการชา หากเป็นมาก จะทำให้เดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดพักถึงจะเดินต่อได้ หากเป็นมากขึ้นไปอีก จะทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะอุจจาระได้
แนวทางการรักษา
ก่อนจะเริ่มการรักษาโรคปวดหลังส่วนล่าง อันดับหนึ่งต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดนั้นๆ ก่อน เนื่องจากอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างอักเสบ, ข้อต่อของกระดูกหลังเสื่อมหรืออักเสบ, หมอนรองกระดูกหลังเสื่อม, หมอนรองกระดูกหลังหรือกระดูกหลังกดทับเส้นประสาท, กระดูกหลังเคลื่อนทำให้เกิดการไม่มั่นคงของกระดูกหลัง ไปจนถึงข้อต่อกระดูกเชิงกรานมีการอักเสบ ล้วนแต่ทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ทั้งสิ้น
หลังจากที่ทราบสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างแล้ว จึง “ทำการรักษาที่ตำแหน่งของสาเหตุนั้นๆ” ถ้าเป็นจากกล้ามเนื้อก็รักษากล้ามเนื้ออักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา กายภาพบำบัด หรือการคลายกล้ามเนื้อและฉีดยาเฉพาะจุดที่มีกล้ามเนื้ออักเสบ หากเป็นการปวดจากข้อต่อกระดูกสันหลัง ควรทำการรักษาโดยรับประทานยา หรือฉีดยาลดอักเสบที่ตรงบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลัง โดยใช้เอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อเล็งจุดข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้การฉีดเป็นไปอย่างแม่นยำ
แต่หากเป็นการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง จากกระดูกหลังหรือหมอนรองกระดูกหลังทับเส้นประสาท การรักษาโดยการฉีดยาตรงเส้นประสาทที่ถูกกดทับจะทำให้อาการดีขึ้นได้มาก นอกจากนี้หากมีอาการปวดหลังส่วนล่าง จากข้อต่อบริเวณกระดูกเชิงกราน การรักษาที่ดีที่สุดคือการรักษาที่ตำแหน่งของสาเหตุ การฉีดยาลดอักเสบ ตรงบริเวณข้อต่อกระดูกเชิงกรานจะทำให้อาการปวดลดลงได้
การฝึกสร้างกล้ามเนื้อหลังส่วนต่างๆ มีบทบาทในการลดอาการปวดเรื้อรังบริเวณหลังได้ แพทย์จะวินิจฉัยหาตำแหน่งที่มีการอักเสบ และเลือกวิธีการฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละคน
ส่วนอาการปวดหลังเรื้อรังและร้าวลงสะโพก หรือร้าวลงขา มักเกิดจากเส้นประสาทมีการอักเสบและถูกกดทับ การรักษาจึงต้องรักษาที่บริเวณเส้นประสาท ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยการทานยาหรือการฉีดยาเฉพาะตรงจุดเส้นประสาทที่อักเสบ โดยใช้เอกซเรย์ (X-Ray) เป็นตัวเล็งตำแหน่งของเส้นประสาทนั้นๆ
เนื่องจากอาการปวดหลังส่วนล่าง เป็นได้จากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยและรักษาสาเหตุที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็น เพราะจะส่งผลดีต่อการรักษา รวมไปถึงการปล่อยให้อาการเป็นเรื้อรังจะทำให้รักษาได้ยากมากขึ้น
สุดท้ายนี้การออกกำลังกาย ฝึกกล้ามเนื้อหลังและท้อง รวมถึงคุมน้ำหนักไม่ให้มากจนเกินไป จัดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการรักษาโรคปวดหลังส่วนล่างในระยะยาว หมอจึงฝากให้ดูแลสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยครับ
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย

นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านคลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง (Advanced Orthopedics Center) ชั้น 2
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02-836-9999 กด 4 หรือ *2621-2
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

