หลายท่านคงเคยมีอาการเวียนศีรษะ มึนงง รู้สึกร่างกายลอยๆ โคลงเคลง ไม่มั่นคง นับว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยอาการเวียนศีรษะสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่อาจจะพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งบางคนเมื่อเกิดอาการเหล่านี้อาจมองเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็สามารถเป็นได้ แต่บางครั้งอาการเวียนศีรษะก็เป็นสัญญาณเตือนของโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเราด้วยเช่นกัน
สาเหตุทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะมีหลากหลาย และมีสาเหตุมาจากหลายโรคที่ซับซ้อนซึ่งอาการเวียนหัวมี 2 ลักษณะ คือ
- อาการมึนเวียนศีรษะ (Dizziness) มีความหมายรวมตั้งแต่อาการมึนศีรษะไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ เวียนหัว ซึ่งเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท และสมอง ภาวะโลหิตจาง
- อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) จะหมายถึงเฉพาะอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน หรือโคลงเคลงเท่านั้น ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเองหรือตัวเองหมุน รู้สึกโคลงเคลงทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้
ทั้งนี้ มีหลายโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้ เช่น
- โรคหินปูนในหูชั้นใน หรือ BPPV เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยจะมีอาการเวียนหัวแบบบ้านหมุนขึ้นมาทันทีที่เปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ล้มตัวลงนอน หรือก้มเก็บของ ในคนที่มีอาการมาก อาจทำให้มี คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรงได้ แต่การได้ยินมักจะปกติ
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน มีเสียงในหู การได้ยินลดลง แน่นหู โรคนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน มากกว่า ซึ่ง อาการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
- โรคไมเกรน นอกจากจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนหัวที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไป และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น การได้ยินจะลดลง หูอื้อ จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
- โรคที่เกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีอาการหน้ามืด หรือเป็นลมตามมา
- โรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคเนื้องอก หรือเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมักพบร่วมกับอาการแขนขาอ่อนแรง เดินเซ พูดไม่ชัด
- โรคทางจิตเวช โดยสาเหตุนี้มักจะเกิดจากสภาพจิตใจร่วมด้วย เช่น อาการเวียนหัวอย่างมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่สูง หรือที่ชุมชน เกิดอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชา และเย็น และแน่นหน้าอก เป็นต้น
เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนควรทำอย่างไร?
อาการเวียนศีรษะและอาเจียนมาก ๆ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความดันในเลือดต่ำอาจเกิดภาวะช็อกได้ ดังนั้นหากเกิดอาการขณะทำกิจกรรมต่างๆ ควรปฏิบัติดังนี้
- หยุดนั่งพัก หรือควรนอนพักสักครู่จนกว่าอาการจะดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้อาการแย่ลง เช่น การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม หรือเงยคอนานๆ
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
- นอนพักจนอาการเริ่มดีขึ้น
- เปลี่ยนท่าช้า ๆ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นเช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภูมิแพ้ กลิ่นฉุน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง ขณะที่มีอาการ เช่น การขับยานพาหนะ การปีนบันได เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยง การเกิดอุบัติเหตุ
- หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่ในยานพาหนะเพราะอาจจะทำให้เกิดเมารถ เมาเรือ
หากมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์
- เวียนศีรษะร่วมกับอาการหมดสติ
- มีอาการแขนขา อ่อนแรง เดินเซร่วมด้วย
- คลื่นไส้ หรืออาเจียนซึ่งอาการเป็นมากขึ้น
- ภาวะขาดน้ำปานกลาง หรือรุนแรง
- อาการไม่ดีขึ้น ใน 1 สัปดาห์
- มีอาการบ่อย หรือรุนแรงดังนั้น การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าได้รับการรักษาในระยะแรกจะได้ผลดี หากสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติ รู้สึกเวียนศีรษะ บ้านหมุนโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีประวัติโรคหู ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย

แพทย์หญิง พิมลพรรณ วิเสสสาระกูล
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์สมองและระบบประสาท (Neurological Center) ชั้น 2
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ( WMC )
โทร.02-836-9999 กด 2 หรือ ต่อ *2921