วันนี้หมอจะพูดถึงกลุ่มอาการที่น่าสนใจครับ นั่นก็คือ อาการปวดข้อเข่า ซึ่งพบได้บ่อยๆ โดยหนึ่งในกลุ่มอาการนี้คือ “อาการปวดข้อเข่าเฉียบพลัน”
ข้อเข่ามีส่วนประกอบที่ซับซ้อน โดยแต่ละส่วนมีการขยับค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบได้โดยง่าย รวมไปถึงอายุที่มากขึ้นจะส่งผลให้เกิดการเสื่อมของผิวข้อเข่า เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่ามีความแข็งแรงลดลง ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้ง่าย
ถ้าผู้อ่านมีอาการปวดข้อเข่าขึ้นอย่างเฉียบพลัน สาเหตุเป็นได้จากการฉีกขาด ความเสื่อม การอักเสบ เกาต์ รูมาตอยด์ กระดูกแตกร้าว ไปจนถึงภาวะติดเชื้อ โดยไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอุบัติเหตุหรือการใช้ชีวิตปกติก็ตาม ถือว่ามีความสำคัญที่ควรจะพักการใช้งานข้อเข่า และหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเหล่านั้น
บทความนี้ หมอจะกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าเฉียบพลัน เพื่อที่ผู้อ่านจะได้มีความเข้าใจและวางแผนแนวทางการรักษาต่อไปได้ครับ
สาเหตุที่เป็นไปได้และพบได้บ่อยของอาการปวดข้อเข่าเฉียบพลัน ได้แก่
- เอ็นอักเสบ
- Runner’s knee (กลุ่มอาการปวดข้อเข่าที่พบในนักวิ่ง)
- เอ็นฉีกขาด
- ข้อเข่าเสื่อม
- หมอนรองข้อเข่าฉีดขาด
- เกาต์
- ถุงน้ำข้อเข่าอักเสบ
- ข้อเข่าติดเชื้อ
- กระดูกแตกร้าว
หมอจะอธิบายสั้นๆ ถึงความแตกต่างของแต่ละสาเหตุให้ฟังครับ
เอ็นอักเสบ โดยพื้นฐานเอ็นเป็นโครงสร้างที่ต่อกระดูกข้อเข่าเข้าไว้ด้วยกัน ให้ความมั่นคงและขยับตามการเคลื่อนไหวของข้อเข่า การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักหรือเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของเอ็นเหล่านั้น เกิดอาการตึง บวม ปวดหน่วงๆ บริเวณข้อเข่า ส่งผลให้ขยับข้อเข่าไม่คล่องเหมือนเดิมได้
Runner’s knee พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ขณะวิ่งจะเกิดจากการเสียดสีอย่างต่อเนื่องของกระดูกสะบ้า กับกระดูกข้อเข่า ส่งผลให้เกิดการอักเสบใต้ต่อลูกสะบ้า หรือกระดูกอ่อนบริเวณนั้นค่อยๆ สึกลงจนส่งผลให้เกิดอาการปวดเฉียบพลันได้ โดยอาการปวดจะลึกลงใต้ต่อตัวกระดูกสะบ้า บางรายจะรู้สึกปวดบริเวณด้านหน้าของข้อเข่า โดยมีสาเหตุของอาการปวดนี้ได้หลายประการ ไว้หมอจะมาเล่าให้ฟังในบทความต่อๆไปครับ
เอ็นฉีกขาด พบได้ไม่บ่อยนัก สาเหตุมักเกิดจากอุบัติเหตุ หรือ การเล่นกีฬาอย่างหนัก โดยเอ็นที่พบบ่อยที่สุดคือ เอ็นไขว้หน้า (ACL) เอ็นด้านในข้อเข่า (MCL) อาการคือ ปวดเฉียบพลันและอาจได้ยินเสียงป๊อป หลังจากนั้นมีอาการบวมและปวดมากตามมา
ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดอย่างเฉียบพลันได้เช่นเดียวกัน โดยผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว และอาการอักเสบถูกกระตุ้นโดยกิจกรรมบางอย่าง เช่น นั่งยอง นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือขึ้นลงบันได ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อเข่า บวม บางครั้งมีข้อเข่าอุ่นๆ ร่วมด้วย อาการจะเป็นเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด สาเหตุมักเกิดจากการบิดของข้อเข่า ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงป๊อป หลังจากนั้นตามมาด้วยอาการปวดเข่ามากเฉียบพลัน บางครั้งอาจเกิดอาการเข่าล็อคขยับไม่ได้ มักเป็นเพียงข้างเดียง
เกาต์ เกิดจากร่างกายมีกรดยูริคสูง กรดยูริคจะไปสะสมที่เท้า และข้อเข่าทั้งสองข้าง ส่วนมากพบในชายวัยกลางคน หรือหญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณข้อเข่า โดยหากไม่มีประวัติเคยปวดเข่ามาก่อนเลย มีความเป็นไปได้สูงครับ ว่าข้อเข่าอักเสบนี้อาจเป็นจากเกาต์
ถุงน้ำข้อเข่าอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีถุงน้ำบริเวณข้อเข่า ไม่ว่าจะเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม หมอนรองข้อเข่าบาดเจ็บ หรือจากสาเหตุอื่นๆ ก็ตาม การขยับของข้อเข่าจากการเดินหรือวิ่ง มีโอกาสทำให้มีเลือดออกในถุงน้ำหรือมีการอักเสบเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อเข่าเฉียบพลันได้ครับ
ข้อเข่าติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณข้อเข่า โดยเชื้อโรคเหล่านี้อาจมาทางกระแสเลือด หรือเข้าไปในข้อเข่าโดยตรงผ่านแผลที่ผิวหนังก็ได้ อาการมักจะเริ่มจากปวด จากนั้นมีบวม แดง ร้อน ร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคเกาต์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสที่จะเกิดโรคข้อเข่าติดเชื่อมากกว่าคนปกติครับ
ข้อสุดท้ายคือ กระดูกแตกร้าว ส่วนมากจะเกิดจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมที่ข้อเข่าอย่างเฉียบพลัน และบ่อยครั้งพบว่ามีข้อเข่าผิดรูปร่วมด้วย แต่หากผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนอยู่ก่อน จะส่งผลให้มีโอกาสเกิดกระดูกข้อเข่าแตกร้าวมากขึ้นครับ
สำหรับแนวทางการรักษานั้น จะขึ้นกับการวินิจฉัยเป็นหลัก
- กลุ่มอาการที่เกิดจากกระดูกหักหรือแตกร้าว ควรต้องรับการรักษาโดยการใส่อุปกรณ์พยุงข้อเข่าหรือบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
- กลุ่มอาการ เอ็นอักเสบ เกาต์ ถุงน้ำข้อเข่าอักเสบ และ runner’s knee ควรได้รับการรักษาเริ่มจากการพัก, ประคบเย็น, การพันข้อเข่าเพื่อลดบวมด้วยผ้ายืด, ยกขาสูง, รวมไปถึงการรับประทานยา หากอาการไม่ดี ขึ้นควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป
- กลุ่มอาการเส้นเอ็น ข้อต่อ หรือกระดูกอ่อนได้รับบาดเจ็บ ควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทาง แพทย์อาจต้องการภาพเอ็กซเรย์หรือเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดในบางกรณีครับ
- กลุ่มอาการข้อเข่าเสื่อม หากมีอาการปวดเฉียบพลันจากข้อเข่าเสื่อม มักเกิดจากการอักเสบ การรักษาที่สำคัญเบื้องต้นจึงเป็นไปในแนวทางเพื่อลดการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการ รับประทานยา พักการใช้งานข้อเข่า ไปจนถึงการฉีดยา รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง และการให้ความรู้เกี่ยวกับการระวัง ป้องกันไม่ให้ข้อเข่าเกิดการอักเสบได้อีกในอนาคตด้วย
หมอหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านและคนใกล้ตัว เผื่อเกิดเหตุการณ์ปวดเข่าเฉียบพลันขึ้น จะได้ทราบสาเหตุและแนวทางในการรักษารวมไปถึงดูแลข้อเข่าเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องครับ
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย
นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านคลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง (Advanced Orthopedics Center) ชั้น 2
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02-836-9999 กด 4 หรือ *2621-2