ดวงตา นับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในร่างกายและเป็นอวัยวะที่รับเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดป้องกันได้ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนจะมีโรคหนึ่งเกี่ยวกับดวงตาที่มักจะระบาดในทุกปีนั่นคือ “โรคตาแดง”
โรคตาแดง (pink eye หรือ conjuctivitis)
เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาขาว ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย รวดเร็ว และทำให้เกิดอาการขึ้นอย่างเฉียบพลัน พบมีการระบาดเป็นช่วงๆ มักเป็นในฤดูฝน โดยหลังจากได้รับเชื้อแล้วจะทำให้เกิดอาการภายใน 1-2 วันและระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน
อาการของโรคตาแดง
อาการของโรคตาแดงอาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ ในกรณีที่เป็นสองข้าง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการที่ดวงตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปอีกข้างภายใน 2-3 วัน โดยอาการที่พบ ได้แก่
- ตาแดง
- ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา
- คันตา เคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
- น้ำตาไหล
- เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป
- ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน
ระยะเวลาของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ ในระยะที่อาการตาแดงเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัสที่ลุกลามไปยังกระจกตา ส่งผลให้มีอาการตาพร่ามัว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการตามัวอาจคงอยู่นานถึง 1-2 เดือน
สาเหตุของโรคตาแดง
โรคตาแดงเกิดจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยตาแดง เช่น น้ำตา ขี้ตาที่ติดอยู่ตามสิ่งของ พื้นผิวต่างๆ หรือในน้ำ แล้วมาสัมผัสที่ตา, การใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา เครื่องสำอาง,การเล่นน้ำในที่ท่วมขังและสกปรก หรือจากการที่พาหะโรค เช่น แมลงหวี่ แมลงวัน นำมาสู่ตาเรา สาเหตุของโรคตาแดง ได้แก่
- เชื้อไวรัส ที่พบบ่อย คือ Adenoviruses และ Herpes Simplex viruses
- เชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อย คือ Staphylococcus aureus, Streptococcus pneumoniae และHaemophilus influenzae
- โรคภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ละอองเกสรดอกไม้ น้ำหอม เครื่องสำอาง ควันบุหรี่ ไรฝุ่น หรือแม้แต่ยาหยอดตาบางชนิด
- สาเหตุอื่น เช่น สารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ที่มีความเป็นกรดหรือด่างมาก, การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา, การใส่ Contact lens, โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune)
ปัจจัยเสี่ยงโรคตาแดง
- สัมผัสสารที่ก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดภูมิแพ้เยื่อบุตา
- สัมผัสผู้ป่วยโรคตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
- สวมใส่คอนแทคเลนส์ โดยเฉพาะเลนส์ชนิดที่ใส่ข้ามคืน
การติดต่อของโรคตาแดง
โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยเป็นการติดต่อจากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรงไม่ว่าจะเป็น
- การคลุกคลีใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคตาแดง
- ใช้เสื้อผ้าหรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
- ปล่อยให้ฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา
- ปล่อยให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา
- ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือและใบหน้า
การวินิจฉัยโรค
เมื่อมีอาการ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคตาแดงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจมีโรคอื่นเกิดขึ้นร่วมได้ เช่น แผลที่กระจกตา กระจกตาอักเสบ การวินิจฉัยด้วยลักษณะภายนอกและการมองด้วยตาเปล่าจึงอาจไม่ละเอียดพอ ยิ่งไปกว่านั้น การรักษาโดยซื้อยาหยอดเอง อาจไม่หายหรือมีผลข้างเคียงจากยาโดยไม่คาดคิดได้
นอกจากการวินิจฉัยโรคตาแดงด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยการตรวจของจักษุแพทย์แล้ว การตรวจร่างกายอาจพบ ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าใบหูบวมโต ซึ่งเป็นลักษณะของการติดเชื้อไวรัส การนำขี้ตาไปเพาะเชื้อ อาจทำในบางรายที่สงสัยเชื้อโรคบางชนิด หรือทำเมื่อแพทย์ให้การรักษาแล้ว แต่ไม่ดีขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา นอกจากนั้นยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ที่ทำในเฉพาะคนไข้บางราย อาจช่วยหาสาเหตุได้ เช่น
- การทำ patch test เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้
- การขูดเยื่อตาเพื่อนำไปดูเซลล์ (conjunctival scrape for cytology) เพื่อหาเชื้อ Chlamydia, เชื้อรา, การเจริญเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเซลล์ เช่น dysplasia
- การตัดเยื่อตาออกมาตรวจ (conjunctival incisional biopsy) เพื่อหากลุ่มโรค granulomatous diseasesเช่น sarcoidosis หรือเมื่อสงสัย dysplasia
การรักษา
รักษาตามลักษณะอาการของโรค เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสยังไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ถ้ามีขี้ตามากก็หยอดยาปฏิชีวนะ มีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับยาลดไข้ ยาลดปวด พยายามรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้มากๆ โดยเฉพาะการใช้สายตาในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง ไม่ควรทำงานดึก ควรนอนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปิดตา ยกเว้นมีกระจกตาอักเสบ เคืองตามาก จึงปิดตาเป็นครั้งคราว ไม่ควรให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย ควรงดการใช้ผ้าเช้ดหน้าร่วมกัน ทุกครั้งที่จับตาควรล้างมือให้สะอาด ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ จะแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปในน้ำได้
การป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดอยู่สม่ำเสมอ
- ไม่คลุกคลี ใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
- ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
- อย่าปล่อยให้มีแมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่ายกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ
โรคตาแดง ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่ดูไม่ร้ายแรง แต่ถ้าละเลยหรือไม่ทำการรักษาก็อาจจะทำให้ตาแดงเรื้อรัง เส้นเลือดตาอักเสบเรื้อรัง หรือติดเชื้อที่รุนแรงถึงขั้นทำให้การมองเห็นลดลงและดวงตาพิการได้ ดังนั้นหากพบว่าตนเองเป็นโรคตาแดงควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย
ศูนย์จักษุวิทยาเฉพาะทาง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์จักษุวิทยาเฉพาะทาง (Advanced Ophthalmology Center) ชั้น 3
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02 836 9999 ต่อ *3621-2