เมื่อเวลาผ่านไป อายุเริ่มมากขึ้น ความแข็งแรงของกระดูกย่อมเสื่อมถอยลง แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับโรคนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ไม่มีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง กว่าจะรู้ได้ก็เมื่อกระดูกพรุนและเกิดการสึกหรอเกินกว่าจะดูแลได้ จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นยิ่งต้องระวัง
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมกระดูกน้อยเกินไปในขณะที่กำลังเจริญเติบโต หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้วทำให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนักและแตกหักตามมา โดยปกติมักพบมากในเพศหญิง แต่เพศชายสามารถพบได้ 20 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยหนุ่มสาวเช่นกัน
อันตรายของโรคกระดูกพรุน
เมื่อเป็นโรคกระดูกพรุน มวลกระดูกลดน้อยลง ความแข็งแรงกระดูกลดลง กระดูกในผู้ป่วยเหล่านี้จึงมักจะหักง่ายแม้ได้รับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ตําแหน่งที่พบกระดูกหักบ่อยคือ กระดูกปลายแขน ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง ซึ่งผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่เกิดกระดูกสันหลังหัก และข้อสะโพกหักมักจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมามาก และมีอัตราตายสูง ถือเป็นภาวะอันตรายมาก และที่สําคัญคือผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ดังนั้นผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวมาก่อน
ความเสี่ยงเมื่อกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน
20% มักเสียชีวิตภายใน 1 ปี
30% พิการถาวร
40% ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน
80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนก่อนกระดูกหัก
กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน มีอันตรายสูงมาก ควรป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุนทันทีเมื่อทราบ
อาการของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนมักไม่แสดงอาการ มักพบอาการเมื่อกระดูกหักแล้ว โดยบริเวณที่พบกระดูกหักได้บ่อยจากโรคกระดูกพรุน ได้แก่ กระดูกข้อสะโพก ข้อมือ หลัง ต้นแขน ข้อเท้า
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน เกิดจากภาวะที่ร่างกายขาดสารตั้งต้น ในการเสริมสร้างกระดูกที่สำคัญ ได้แก่
- ขาดแคลเซียม หรือภาวะแคลเซียมน้อย
- การขาดสารอาหาร และวิตามินดี ที่ร่างกายต้องการ
- ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จากภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง
- ออกกำลังกายน้อยเกินไป
ปัจจัยเสี่ยงกระดูกพรุนปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้น มวลกระดูกจะเปราะบางและแตกหักง่ายหากถูกกระทบกระเทือน
- การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) น้อยลง
- กรรมพันธุ์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
- ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับ
- โรคและการเจ็บป่วย เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งกระดูก
- การบริโภคอาหาร ที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล
- การใช้ยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการสร้างกระดูก เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์
สามารถตรวจร่างกายดูว่ากระดูกพรุนได้หรือไม่
การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก ( Bone Mineral Density : BMD ) โดยเครื่องมือที่อาศัยหลังการ ทางการเอ็กซเรย์เป็นหลักเครื่องนี้จะวัดว่ากระดูก มีเนื้อหรือมวลกระดูกมากน้อยเพียงใด และนำค่าที่วัดได้มาเปรียบเทียบกับค่ามวลกระดูกมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันใช้ค่ามวลกระดูกของสตรีชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก การเอ็กซเรย์ธรรมดาไม่สามารถจะใช้ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกได้ จนกว่ากระดูกบางไปมากเกินกว่าครึ่งแล้วซึ่งถือว่าช้าเกินไป
ควรเริ่มตรวจมวลกระดูกเมื่อใด ?
แนะนำให้เริ่มคัดกรองในผู้หญิงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติกระดูกหัก หรือรับประทานยาเช่น สเตียรอยด์ เป็นประจำ หรือพ่อแม่มีประวัติกระดูกข้อสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนมาก่อน ก็แนะนำ ให้ตรวจวัดมวลกระดูกเพื่อวินิจฉัยก่อนได้
เช็กค่าความหนาแน่นมวลกระดูก
20% ของผู้หญิงไทยวัย 40-80 ปี เป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ แต่ทราบได้จากการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก
ค่าความหนาแน่นมวลกระดูกจะคำนวณเป็นค่าที่เรียกว่า T- score (T) ซึ่งใช้เป็นค่าวินิจฉัยภาวะความหนาแน่นมวลกระดูก เช็คผลได้ดังนี้
ค่า T score ที่มากกว่า –1 ถือว่าความหนาแน่นกระดูกปกติ
ค่า T score ที่อยู่ระหว่าง –1 ถึง –5 คือ กระดูกบาง (Osteopenia)
ค่า T score ที่น้อยกว่า –5 คือ กระดูกพรุน (Osteoporosis)
การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน
ใช้ผลการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยวิธี Dual Energy X-ray Absorptiometry (DEXA)
การรักษาภาวะกระดูกพรุน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กล่าวไปแล้ว และเน้นภาวะโภชนาการที่มีแคลเซียม และวิตามินดีที่เพียงพอต่อร่างกาย การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยสร้างกระดูกแล้ว ยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ตลอดจนช่วยเรื่องการทรงตัวด้วย
- การรักษาโดยใช้ยา มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแล และพิจารณาถึงประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และความสะดวกในการใช้ยาของผู้ป่วย
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะกลางแจ้งตอนที่มีแดดอ่อน เช่น เวลาเช้า หรือเย็น
- เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรรีบทำกายภาพบำบัด หรือเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เร็วที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายจะเอื้ออำนวย
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลากระป๋อง ซึ่งสามารถรับประทานกระดูกปลาได้ หรือดื่มนมพร่องไขมันเนย ผักผลไม้ เป็นต้น
- งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ควรซื้อยารับประทาน เช่น ยาลูกกลอน เพราะมักจะมีสารเสตียรอยด์ผสมอยู่ ทำให้กระดูกพรุนได้
การตรวจมวลกระดูก เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และจะมาพบแพทย์เมื่อเกิดภาวะกระดูกหักแล้ว ควรเข้ารับการตรวจมวลกระดูกและปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัว
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย
นายแพทย์ ณัชพล คุณณะรักษ์ไทย
แพทย์ผู้ชำนาญการศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง (Advanced Orthopedics Center) ชั้น 2
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02-836-9999 กด 4 หรือ *2621-2